วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กิจกรรมที่ 6 ความรู้ที่ได้จากการทำบล็อก

          จากการที่อาจารย์ให้นักศึกษาส่งงานผ่านทางบล็อก ข้าพเจ้าคิดว่ามีความเหมาะสมมาก สามารถนำมาใช้ในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนให้กับนักเรียนได้จริง นักเรียนสามารถเข้ามาใช้งานบล็อกที่ครูจัดทำขึ้นได้ และครูสามารถนำสื่อที่ได้ขึ้นไว้บนบล็อกมาสอนนักเรียนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ผลดีของการใช้งาน
1. ใช้งานได้สะดวก มีความหลากหลาย นำเสนอได้ทั้งรูปภาพและตัวหนังสือ
2. สร้างง่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
3. สามารถแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกของผู้อ่านเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่โพสต์ได้
4. ช่วยในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของโรงเรียนได้
5. มีความทันสมัย ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบันเสมอ
6. เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้โดยอิสระ
7. ผู้ที่สร้างบล็อกสามารถ ปรับแต่งบล็อกให้เป็นรูปแบบที่ตนต้องการได้
8. สามารถสร้างเครือข่ายร่วมกันได้
9. เก็บและเผยแพร่ข่าวสารได้มาก และหลากหลายรูปแบบ
ข้อเสียของการทำบล็อก
1. เนื้อหาที่อยู่ในบล็อก ไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ ยังไม่การพิมพ์ผิด เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจสอบก่อนเผยแพร่
2. เพื่อนที่อยู่นอกเครือข่ายหรือไม่มีที่อยู่มีของบล็อกโอกาสที่จะได้รู้จักหรือแสดงความคิดเห็นทำได้ค่อนข้างยาก
3. อิสระในการนำเสนอ ไม่มีผู้ตรวจสอบบางครั้งอาจโพสต์เรื่องที่ไม่เหมาะสม
4. ข้อความสามารถคัดลอก วางได้สะดวกโดยไม่ต้องพิมพ์
     จากการที่ข้าพเจ้าได้จัดทำบล็อก ข้าพเจ้าได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ การตกแต่งบล็อกของตนเอง การคิดสร้างสิ่งใหม่ มีความกระตือรือร้นในการทำงานเนื่องจากต้องศึกษาและติดตามการสั่งงานของอาจารย์ตลอดเวลา ส่งผลให้นักศึกษามีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น ให้ความสนใจกับวิชาที่เรียนมากยิ่งขึ้น

กิจกรรมที่ 5 การศึกษาดูงานประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

ระหว่างวันที่ 24 – 28 มกราคม 2554

***********************************
ขั้นตอนการศึกษาดูงาน ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์
1. สมาชิก ป. บัณฑิตบริหารการศึกษา สำรวจความต้องการของสมาชิกในห้องเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปศึกษาดูงาน จากนั้นมีการขอมติในการเลือกประเทศในการศึกษาดูงาน ผลปรากฏว่า ได้ไปศึกษาดูงานประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ จากนั้นคณะกรรมมีการประชุมเพื่อกำหนดวันที่ไปศึกษาดูงาน
2. ประธานแจ้งกำหนดการเกี่ยวกับการศึกษาดูงาน คือ ระหว่างวันที่ 24 -28 มกราคม 2554
3. คณะกรรมการนำเสนอโครงการเสนอเพื่อขออนุมัติ
4. มีการติดต่อประสานงานกับบริษัททัวร์ ซึ่งคณะกรรมการมีมติให้บริษัทศิรินครทัวร์ เป็นบริษัทจัดกิจกรรมศึกษาดูงานในครั้งนี้
5. สมาชิกทุกคนไปทำหนังสือเดินทาง
6. ศึกษางาน ณ Seklolah Kebangsaan Kodiag school ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
-------------------------------------------------------------------------
การเดินทางระหว่างวันที่ 24 – 28 มกราคม 2554
วันที่ 24 มกราคม 2554
             เวลา 04.00 น. ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มุ่งหน้าสู่ด่านสะเดา จ.สงขลา ระหว่างทางแวะรับสมาชิกในรถคันที่ 1 บริเวณศาลารอรถ อำเภอร่อนพิบูลย์ สถานีที่ 2 แวะรับสมาชิกที่สวนพัก และสถานที่ 3 แวะรับสมาชิกที่ป่าพะยอม ซึ่งก็คือข้าพเจ้าเอง  ตรงนี้ไม่ได้รับเนื่องมาจากคนขับรถขับเลยสถานที่ที่นัดหมายจึงให้รถบัสคนที่ 2 รับสมาชิกไปแทนแล้วแวะรับกลางทาง จากนั้นน้อง Staff ก็แจกอาหารกล่องให้คนละ 1 กล่อง เพื่อรับประทานอาหารเช้า บนรถ เป็นข้าวมันไก่ เมื่อถึงด่านทุกคนต่างรีบกันเข้าแถวเพื่อประทับตราหนังสือเดินทาง ที่ด่านชายแดนไทยเข้าสู่ด่านจังโหลน ประเทศมาเลเซีย หลังจากเสร็จขั้นตอนต่างๆ ทุกคนนั่งรถเดินทางสู่ประเทศมาเลเซีย บริเวณสองข้างทางมีบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยอยู่มากตรงที่มี นาข้าว มีสวนยางพารา มีต้นปาล์ม มีต้นสักทอง และต้นกระถินณรงค์ ถนนหนทางกว้างขวางมาก ๆ บริเวณที่อยู่อาศัยจะอยู่เฉพาะในตัวเมือง ไม่เหมือนของประเทศไทยจะอาศัยอยู่กระจายทั่วทุกพื้นที่ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย คนมีมารยาทในการใช้รถใช้ถนน เคารพกฏจราจรอย่างเคร่งครัด ธรรมชาติสวยงาม และต้องเพลิดเพลินกับการฟังเพลงอันไพเราะในรถบัส ตลอดการทำกิจกรรมต่างของนักศึกษาอย่างหลากหลาย และเดินทางเข้าสู่สถานที่ศึกษาดูงานแห่งแรก ณ ประเทศมาเลเซีย คือ Sekolah Kebangsaan Kodiag school เป็นโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐเคดาห์ มีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลถึง ประถมศึกษา ประเทศมาเลเซียนักเรียนจะเรียนถึงเที่ยง ส่วนครูนั้นต้องอยู่ถึงประมาณบ่ายสามโมง บรรยากาศในห้องเรียนมีการตกแต่งที่สวยงามเหมาะแก่การเรียนการสอน ทุกห้องจะมีการตกแต่งโดยผลงานนักเรียน และใช้ผ้าม่านสีฟ้าทุกห้อง ห้องเรียนสะอาดเรียบร้อยมาก พอไปถึงทางโรงเรียนจัดกิจกรรมต้อนรับเป็นการแสดงขับร้องประสานเสียง จากนั้นก็แบ่งกลุ่มกันไปดูงานตามห้องต่าง ๆ โรงเรียนเน้นความเป็นระเบียบ ส่วนอาคารเรียนอนุบาลก็จะแยกอยู่ต่างหาก ห้องน้ำห้องส้วมสะอาด การบริหารจัดการบางอย่างก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนของบ้านเราได้ หลังจากเยี่ยมชมเสร็จแล้ว ก็ได้มีพิธีการกล่าวต้อนรับของผู้บริหารโรงเรียน Sekolah Kebangsaan Kodiag school และกล่าวขอบคุณของอาจารย์สาสินี จงใจสุรธรรม พร้อมมอบของที่ระลึกโดย ดร. ไพศาล นิ่มสุวรรณ จากนั้นก็ร่วมรับประทานอาหารเที่ยงอาหารที่เลี้ยง คือ ข้าวหมกไก่ แล้วออกเดินทางเพื่อไปให้ทุกคนแลกเงิน ณ จุดแปลกเปลี่ยนเงิน แล้วเดินทางผ่านเมืองต่างๆ ของมาเลเซีย และแวะรับประทานอาหารเย็นที่ภัตตาคาร ก่อนถึงเกาะปินัง และเข้าพักโรงแรม Grand Continental Hotel บนเกาะปีนัง


วันที่ 25 มกราคม 2554
             ตอนเช้าเวลา 05.00 น. รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม Grand Continental Hotel แล้วเดินทางออกจากโรงแรม ชมบรรยากาศที่ป้อมปืน แล้วสมาชิกร่วมกันถ่ายรูป เป็นยามเช้าที่สดชื่น สนุกสนาน จากนั้นก็เดินทางไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้าน Garden Seafood ชมพระราชวังของประเทศมาเลเซีย ชมอนุสาวรีย์ทหารอาสา ชมเสาธงที่สูงที่สุดในโลก ชมตึกแฝด แวะร้านช็อคโกแลต เพื่อให้ทุกคนซื้อของฝากกันอย่างมีความสุข หลังจากนั้นออกเดินทางสู่เก็นติ้ง เมืองมหานครแห่งความบันเทิงบนภูเขาสูงด้วยกระเช้าไฟฟ้า (SKY WAY) ขณะที่ข้าพเจ้านั่งกระเช้ารู้สึกถึงบรรยากาศความตื่นเต้นเนื่องจากสูงมาก ๆ ตอนนั่งกระเช้าข้าพเจ้าพร้อมด้วยสมาชิก จำนวน 8 คน เห็นความงามของทัศนียภาพแห่งขุนเขา หมอกและน้ำค้างที่อยู่ใกล้ รู้สึกปวดหัวเพราะกระเช้าจะหยุดอยู่พักหนึ่งเพื่อให้คนนั่งได้ดูบรรยากาศด้านล่างและเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มาก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อว่าคนเราจะคิดสร้างมหานครแห่งนี้ขึ้นมาได้ บริเวณรอบ ๆ มีต้นไม้ขึ้นอยู่รายรอบบนภูเขาต้นไม้มีขนาดที่ใหญ่เกิดจากความสมบูรณ์ของอากาศ น้ำ และดิน จากนั้นก็เดินทางเข้าสู่ที่พัก โรงแรม First World ภายในที่พักนั้นไม่มีแอร์ แต่อากาศค่อนข้างเย็น ภายในที่พักออกแบบสวยงาม จากนั้นก็ลงไปรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ทุกคนต่างแยกย้ายกันไปดูศูนย์รวมความบันเทิง และบ่อนคาสิโนหลากหลายชนิดซึ่งอยู่ใช้ล่างสุดของที่พัก


วันที่ 26 มกราคม 2554
            เวลา 05.00 น. ทุกคนพร้อมกันที่ห้องรับประทานอาหารเช้า ณ ภัตตาคารของโรงแรม First World วันนี้ทัศนวิสัยไม่ค่อยดีเนื่องจากมีลมแรง และเป็นวันหยุดการเดินของกระเช้าไฟฟ้า การเดินทางลงจากเก็นติ้งไม่เหมือนเดิมเปลี่ยนจากเดินทางด้วยกระเช้าเป็นเดินทางด้วยรถบัสของเก็นติ้ง จากนั้นก็ไปรับประทานอาหารเที่ยง Malaysia Kitchen ชมรัฐสภาซึ่งมีความสวยงามมาก ๆ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มัสยิดสีชมพู แล้วเดินทางต่อไปรับประทานอาหารค่ำ จากนั้นเดินทางต่อมุ่งหน้าสู่โยโฮบารูเมืองชายแดนติดกับประเทศสิงคโปร์ ถึงด่านแจ้งหนังสือเดินทางออกจากมาเลเซียเพื่อเข้าสู่ประเทศสิงคโปร์ที่ด่านวู๊ดแลนด์ เข้าสู่ที่พัก AQUEEN HOTEL


วันที่ 27 มกราคม 2554
           หลังรับประทานอาหารเช้า ก็เดินทางไปบริเวณเมอร์ไลออน อ่าวสิงคโปร์เพื่อถ่ายรูปกับสิงโตพ่นน้ำ  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศสิงคโปร์ และเที่ยวย่านการค้าซึ่งมีทั้งห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มากมาย ซึ่งอยู่บนถนนออร์ชาร์ด ทุกคนต่างเที่ยวชมและเลือกซื้อสินค้าตามที่ตนต้องการ ข้าพเจ้าได้ของฝากต่าง ๆ มากมายส่วนใหญ่เป็นของที่ระลึก หลังจากนั้นเดินทางต่อไปยังเกาะเซ็นโตซ่า ศูนย์รวมความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกของสิงคโปร์ ชมยูนิเวอร์เซล ชมภาพยนต์ 4 มิติ (4D) ที่ทันสมัยเหมือนนั่งอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ บรรยากาศสนุกสนานเพลิดเพลินจนบอกไม่ถูกถึงแม้ว่าจะร้อนแต่ก็มีความสุข และเข้าชม Song of the sea ที่สวยงาม และตระการตาทั้งภาพและเสียง และรับประทานอาหารเย็นที่เกาะเซ็นโตซ่า เสร็จแล้วล่องเรือชมความงามยามค่ำคืนของสิงคโปร์ และเดินทางออกจากสิงคโปร์เข้าสู่เมืองยะโฮบารู ประเทศมาเลเซียเข้าพักโรงแรม Selasa


วันที่ 28 มกราคม 2554
            เวลา 05.00 น. รับประทานอาหารเช้าที่ Selasa จากนั้นก็ออกเดินทางจากโรงแรม มุ่งหน้าสู่ด่านจังโหลน บรรยากาศในรถยัง คงสนุกสนานเช่นเดิม บวกความเหนื่อยและอ่อนล้าตามไปด้วย พอตอนเที่ยงก็แวะรับประทานอาหารเที่ยง เมนูอาหารก็เป็นอาหารเดิมๆ จากนั้นเดินทางต่อถึงร้านดิวตี้ฟรี บริเวณชายแดนมาเลเซีย ช่วงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ทางบริทัวร์ให้เราใช้เวลาในการซื้อของฝากประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองเข้าสู่ประเทศไทย จากนั้นแวะรับประทานอาหารค่ำที่ด่าน ประมาณเวลา 21 นาฬิกาจึงเดินทางออกจากด่านมุ่งสู่จุดหมายปลายทาง ระหว่างการเดินทางบรรยากาศครึกครื้นเห็นแต่รอยยิ้มของแต่ละคน มีการร้อง เต้นรำกันตลอดทางระหว่างนั้นรถบัสคันที่ 1 ก็จอดให้สมาชิกคนแรกของคันลงบริเวณป่าพะยอม สวนผักร่อนพิบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ป้ายสุดท้าย คือ ศาลาประดู่ 6 ซึ่งข้าพเจ้าก็ลงเป็นป้ายสุดท้ายด้วยเช่นกันสมาชิกตอนนั้นเหลือประมาณ 7- 8 คน ทุกคนเดินทางโดยปลอดภัย ช่วงเวลาที่มาถึงจุดหมายปลายทางประมาณเกือบ ๆ ตีสองก็ว่าได้ทุกคนมีแต่ความสุขและความประทับใจ

ความประทับใจ
           จากการศึกษาดูงานทำให้ข้าพเจ้าสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนโดยการจัดการเรียนการสอนโดยแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถของผู้เรียนและจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังเต็มความสามารถ อีกทั้งการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้แสดงออกความสามารถทางด้านกีฬา เป็นการส่งเสริมที่ดีมากๆ ส่วนหนึ่งทำให้นักเรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีเป็นการส่งเสริมความรักความสามัคคีในหมู่คณะของนักเรียนและดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขเหมือนกับการจัดการศึกษาของเมืองไทยนั่นแหละ คือต้องการให้เด็ก เก่ง ดี และมีความสุข
อีกทั้งนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จาการศึกษาดูงานไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเอง

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่ 4

ระบบข้อมูลของสถานศึกษา
1.บริบทของสถานศึกษา  สภาพความเป็นอยู่  จุดเด่น  จุดด้อย  โอกาสที่จะพัฒนา
บริบทของสถานศึกษา 
โรงเรียนวัดหลักช้าง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  เดิมมีชื่อว่าโรงเรียนช้างกลาง 1 เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งเป็นโรงเรียนแรกของอำเภอช้างกลาง  ประกาศจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2466  ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2  ตั้งอยู่ในชุมชนหลักช้าง  หมู่ที่  6  ตำบลหลักช้าง  อำเภอช้างกลาง   จังหวัดนครศรีธรรมราช   มีเนื้อที่ประมาณ  27  ไร่  ทิศเหนือจดกับหนองน้ำแม่เคง  ทิศใต้จดกับวัดหลักช้าง  ทิศตะวันตกจดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4019  ทิศตะวันออกจดกับที่ดินส่วนบุคคล 
ปัจจุบันโรงเรียนวัดหลักช้างผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อนายสุนันท์   สงกรด  ทำการเปิดสอน 3 ระดับ  คือ  ระดับอนุบาล  ระดับประถมศึกษา  และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  รวม  11  ห้องเรียน  มีบุคลากรครู  14  คน  ผู้ชาย  5 คน  ผู้หญิง  9  คน  นักการภารโรง  1  คน  นักเรียนทั้งหมด  129  คน  เป็นนักเรียนชาย  63  คน  เป็นนักเรียนหญิง  69  คน  
สภาพความเป็นอยู่  คนในชุมชนร้อยละ  95  ประกอบอาชีพที่สวนยางพารา  ร้อยละ  2  ประกอบอาชะรับราชการ  และร้อยละ  3  ประกอบอาชีพรับจ้าง  นักเรียนประมาณร้อยละ  95  เป็นคนในท้องถิ่น  และอีกประมาณร้อยละ  5  ที่ย้ายติดตามผู้ปกครอง  ผู้ปกครองมีรายได้เพียงพอสำหรับส่งเสียบุตรหลานของตนเอง  โรงเรียนมีอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนทุกคน
 จุดเด่น 
1. นักเรียนมีน้อย  อัตรา  ครู:นักเรียน  1:9 ครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง
2. นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่
3. ครูมีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย  และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง
4. ครูผู้สอนมีความสนิทกับชุมชนและผู้ปกครอง  จึงสามารถจัดกิจกรรมได้สะดวกเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละบุคคล
5. ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา  ชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความร่วมมือกับการบริหารการศึกษาของโรงเรียนเป็นอย่างดี
จุดด้อย
1. นักเรียนขาดสุขนิสัยที่ดีต่อการดูแลสุขภาพของตนเอง
2. นักเรียนใช้จ่ายในทางที่ไม่เหมาะสม  เช่น  เล่นเกม  เที่ยวเตร่  เลนการพนัน
3. นักเรียนไม่มีความใฝ่รู้  ไม่รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
5. นักเรียนไม่รู้จักการทำงานเป็นทีม  การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
6. ครูมีภาระงานอื่น ๆ มากมาย  มีเวลาในการเตรียมการสอนน้อย
7. ครูขาดความตระหนักในการปลูกฝังด้านวินัย  คุณธรรม  จริยธรรมสำหรับเด็ก
8. ปริมาณสื่อที่ใช้บริการผู้เรียนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้มีค่อนข้างน้อย
9. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไม่ค่อยได้ดำเนินการอย่างจริงจัง
10. ครูมีความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อ  เทคโนโลยี  ค่อนข้างน้อย
               
โอกาสที่จะพัฒนา
เนื่องจากชุมชนกับโรงเรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดมา  ดังนั้นสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน  การพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เกิดประสิทธิผลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาบูรณาการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  มีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน  ส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรมและงานอาชีพ
2.  ระบบข้อมูลสถานศึกษา  มีการจัดทำสารสนเทศของโรงเรียน โดยงานแผนงานและสารสนเทศโรงเรียน  ร่วมกับแผนงานฝ่ายแต่ละฝ่ายเป็นผู้จัดทำและจัดเก็บข้อมูลสถานศึกษา  ภาคเรียนละ  1  ครั้ง    ข้าพเจ้าคิดว่ามีสภาพที่ดีมีระบบ  แต่ควรที่จะพัฒนาให้การสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแต่ละฝ่ายเพื่อค้นข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
ข้อมูลนักเรียน  มีการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล   เป็นห้องเรียน โดยครูประจำชั้น สามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวของนักเรียนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว  เก็บข้อมูลของนักเรียนไว้ชั้น  ข้าพเจ้าคิดว่ามีสภาพที่ดีมีระบบ 
ข้อมูลบุคลากร  มีการจัดเก็บข้อมูลบุคลากรเป็นแฟ้มรายบุคคลโดยมีฝ่ายบุคลากรเป็นผู้รับผิดชอบ  ข้าพเจ้าคิดว่าควรมีการปรับปรุงโดยการจัดเก็บข้อมูลของบุคลการเป็นรายบุคคลในรูปของไฟล์ข้อมูล  มีการจัดเก็บให้เป็นระบบมากกว่าเดิม  แยกบุคลากรเป็นฝ่ายงานพร้อมรูปภาพ  ประวัติ  และต้องมีการสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลได้สะดวกขึ้น
ข้อมูลงานทะเบียนนักเรียน  มีการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล  มีการแยกเก็บเป็นปีการศึกษา  มีประวัติของนักเรียน  ประกอบด้วยเลขประจำตัวนักเรียน  ชื่อ-นามสกุล  วันเดือนปีเกิด  ที่อยู่  ชื่อพ่อ  แม่ อาชีพผู้ปครอง ข้าพเจ้าคิดว่ามีความเป็นระบบสามารถสืบค้นได้ง่ายและสะดวกแต่ควรติดเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแต่ละฝ่ายเพื่อความสะดวกในการสืบค้นของแต่ละฝ่าย
ข้อมูลงานวิชาการและข้อมูลแต่ละฝ่าย  มีการจัดเก็บข้อมูลแต่ละฝ่ายอย่างเป็นระบบ  ผู้ที่ต้องการข้อมูลสามารถเข้าไปสืบหาข้อมูลได้  ข้าพเจ้าคิดว่า  ระบบข้อมูลที่มีอยู่มีสภาพที่ดี  แต่ควรได้รับการพัฒนาให้ดีกว่าปัจจุบันโดยการสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของแต่ละฝ่ายแล้วนำข้อมูลที่มีอยู่ไปจัดเก็บไว้หากฝ่ายใดต้องการข้อมูลก็สามารถเปิดดูได้โดยทันที 
3.  ระบบนวัตกรรมที่ใช้ในการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
-   จัดทำสื่อการสอนสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  เรื่อง  การแปลงทางเรขาคณิต  สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  2
-   ใช้สื่อการสอนที่ผลิตโดยโปรแกรม  GSP 
-   เป็นสื่อที่เหมาะสำหรับนักเรียน  เนื่องจากเรื่องการแปลงทางเรขาคณิตเป็นเรื่องที่นักเรียนต้องสร้างจิตภาพให้กับตัวเอง  นักเรียนเข้าใจได้ยาก  ครูต้องใช้เวลาในการสอนมาก  แต่เมื่อสอนด้วยโปรแกรม  GSP  แล้วนักเรียนสามารถเข้าใจได้เร็วขึ้น

กิจกรรมที่ 3

โปรแกรม  SPSS
การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS
              SPSS โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows (Statistic Package for Social Sciences for Windows)เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยและเป็นโปรแกรมที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ การทำงานแต่ละอย่างใช้เพียงแต่ใช้เมาส์ชี้คำสั่งต่างๆ ตามต้องการ แล้วคลิกเมาส์เท่านั้น
การเข้าสู่การทำงานของโปรแกรม SPSS ให้คลิก Icon SPSS ที่ Desktop หรือที่ Start เลือก All Program คลิกที่ Program SPSS ก็จะปรากฏหน้าต่างของ SPSS
1.  SPSS มีแถบเมนู Data View และVariable View
2.  การสร้างแฟ้มข้อมูล
     o  การสร้างแฟ้มข้อมูล คือ การบันทึกข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ลงในโปรแกรม SPSS
     o  Data View
     o  Variable View
          การสร้างแฟ้มข้อมูลมีขั้นตอน ดังนี้  SPSS  Data  Editor  Variable View  จะปรากฏวินโดวส์ของ Variable View  ดังนี้
ขั้นที่ 1  การตั้งค่าต่างๆ ลงใน Variable View โดยมีเมนูย่อย ดังนี้
             1. Name  ใช้สำหรับตั้งชื่อตัวแปร เช่น เพศ
             2. Type  ใช้สำหรับกำหนดชนิดของตัวแปร
             3. Numeric  เป็นตัวแปรชนิดตัวเลข
             4. Comma  เป็นตัวแปรชนิดตัวเลข และโปรแกรม จะใส่เครื่องหมาย Comma Dot เป็นตัวแปรชนิดตัวเลข และมีเครื่องหมาย “ , ” หนึ่งครั้งสำหรับคั่นทศนิยม  และโปรแกรม SPSS  จะใส่เครื่องหมาย . คั่นเลขหลักพัน Scientific Notation  เป็นตัวแปรชนิดตัวเลข  และสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์  เช่น 22 E-2. Date  เป็นตัวแปรชนิดวันที่คือ  ข้อมูลอยู่ในรูป วัน เดือน ปี  Dollar เป็นตัวแปรที่มีเครื่องหมาย $ มีจุด 1 จุด สำหรับทศนิยม  มีเครื่องหมาย “ , ”  สำหรับคั่นเลขหลักพัน  Custom Currency  สกุลเงินที่ผู้ใช้กำหนดเอง  String  เป็นตัวแปรที่มีค่าเป็นตัวอักษร ( ข้อความ )
             5. Width  คือ  ความกว้างของข้อมูลโดยรวมจุดและจำนวนหลักหลังจุดทศนิยมด้วย สามารถกำหนดความกว้างของข้อมูลได้สูงสุด 40 หลัก
            6. Decimals คือ  จำนวนหลักหลังจุดทศนิยม กำหนดทศนิยมได้สูงสุด 10 หลัก
            7. Label เป็นส่วนที่ใช้อธิบายความหมายชื่อตัวแปร เนื่องจากการกำหนดชื่อตัวแปรที่  Name กำหนดได้เพียง 8 ตัวอักษรเพื่อประโยชน์ตอนแสดงผลลัพธ์
            8. Values กรณีที่ข้อมูลเป็นตัวแปรเชิงคุณภาพ ต้องกำหนดค่าตัวเลข (Value) และ Value Label เพื่ออธิบายความหมายที่แท้จริงของตัวเลขนั้น เช่น คำถามเกี่ยวกับ เพศ ( เป็นตัวแปรเชิงคุณภาพ ) มีคำตอบให้เลือก ดังนี้ เพศชาย เพศหญิง ถ้าผู้ตอบคำถามเป็น เพศชาย กำหนดให้เพศชายมีค่าเป็น 1 ดังนั้น Value จะใส่ 1 Value Label จะใส่ ชาย ถ้าผู้ตอบคำถามเป็น เพศหญิง กำหนดให้เพศหญิงมีค่าเป็น 2 ดังนั้น Value จะใส่ 2 Value Label จะใส่ หญิง
          9. Missing  เป็นการกำหนดค่าที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้วิจัยเลือก Discrete Missing Values แล้วพิมพ์ตัวเลขลง ใช้แทนความหมายบางค่าที่ไม่สมบูรณ์ เช่น 9, 99, 999 คำถามเกี่ยวกับเพศ มีคำตอบให้เลือกดังนี้ เพศชาย เพศหญิง โดยผู้วิจัยจะกำหนดค่าที่เป็นไปไม่ได้สูงสุดของตัวแปรนั้นมาเป็นรหัส คือ 9
        10. Columns เป็นการกำหนดความกว้างของ  Column Align  เป็นการกำหนดให้ค่าของข้อมูลแสดงชิดซ้าย ขวา หรือกลาง
        11. Measure การกำหนดลักษณะข้อมูลว่าเป็น Scale, Ordinal หรือ Nominal Scale คือ ข้อมูลที่ใช้วัด Ordinal คือ เลขแสดงลำดับ Nominal คือ ข้อมูลนามบัญญัติ
ขั้นที่ 2  เมื่อผู้วิจัยกำหนด Variable View  เรียบร้อยแล้วให้กลับมาที่ View  เพื่อพิมพ์ค่าของข้อมูลต่างๆ 
             หมายเหตุ : บันทึกแฟ้มข้อมูลทุกครั้งด้วย®Data  File Save
             การวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อผู้ทำการวิจัยจัดการกับข้อมูลเสร็จแล้ว จะวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละด้าน ก็ให้คลิกที่แถบคำสั่ง Transform เลือก compute แล้วดำเนินการจัดการกับข้อมูลตามแบบสอบถาม แต่ละด้าน แล้วเลือก OK ก็จะได้ทราบค่าสถิติเบื้องต้น

ขั้นตอนการใช้โปรแกรม  SPSS
1.  เปิดโปรแกรม  SPSS
2.  ดูมุมซ้ายมือจะมีหน้ากระดาษ  2  หน้า  หน้า  1  data  view  หน้า  2  variable view 
3.  ให้กดหน้า  2  variable view 
4.  กำหนดค่าในหน้า variable view  ช่อง  name   พิมพ์ 
     เพศ,a1,a2,a3,a4,b1,b2,b3,b4,c1,c2,c3,c4,d1,d2,d3  เรียงจากบนลงล่าง  โดย 
-  a  แทนแบบประเมินด้านที่
- b  แทนแบบประเมินด้านที่  2 
                   - c  แทนแบบประเมินด้านที่  3  และ 
- d  แทนแบบประเมินด้านที่  4
-  ช่องwidth   พิมพ์ตัวเลขความกว้างที่ต้องการ
-  ช่องdeimalsเลือกจุดทศนิยมที่ต้องการ (0,1,2)
-  ช่องvalue   ใส่ค่าโดยคลิกขวา  แถวเพศ  ในช่อง  value  พิมพ์  1ชาย  2หญิง  ส่วนแถว a1,a2....,d3  ในช่อง  value  ใส่ 1-น้อยที่สุด 2-น้อย 3-ปานกลาง 4-มาก 5-มากที่สุด
5.  หลังจากนั้นกลับมากดหน้า  1  data view   ข้อมูลที่พิมพ์ จากหน้า variable view  เพศ,a1,a2,a3,a4,b1,b2,b3,b4,c1,c2,c3,c4,d1,d2,d3  จะมาปรากฎ  บนหัวกระดาษโดยเรียงจากซ้ายไปขวา
6.  พิมพ์ข้อมูลใส่ใน data view โดยกรอกข้อมูลเป็นรายบุคคลที่ละข้อจนครบทุกข้อ  แล้วจึงกรอกข้อมูลคนที่  2,3,4  จนครบ  20  คน  โดย
          - 
ช่อง  เพศ  หากผู้ประเมินเป็นเพศชาย  พิมพ์  1  เพศหญิง  พิมพ์  2  
          -  ช่อง  a1  หากผู้ประเมินตอบคำถามอยู่ในระดับปานกลาง  ให้พิมพ์เลข  3 
          -  ช่อง  a2  หากผู้ประเมินตอบคำถามอยู่ในระดับมาก  ให้พิมพ์เลข  4  จนถึง  d4  ตามลำดับข้อมูล
ที่เก็บรวบรวมได้ทั้งหมด(20 คน)
7.  การวิเคราะห์ข้อมูล
     -  กดที่  transform  เลือก  compute  variable  -  พิมพ์หัวข้อ taใน target variable  เลือก sum.ในfunction คลิก function แล้วพิมพ์ sum [a1,a2,a3,a4]/4 คลิก ok
     -  กดที่  transform  เลือก compute  variable  -  พิมพ์หัวข้อ tbใน target variable เลือก sum.ในfunction คลิก function แล้วพิมพ์ sum [b1,b2,b3,b4]/4 คลิก ok
     -  กดที่  transform  เลือก  compute  variable  -  พิมพ์หัวข้อ tcใน target variable  เลือก sum.ในfunction คลิก function แล้วพิมพ์ sum [c1,c2,c3,c4]/4 คลิก ok
     -  กดที่  transform  เลือก  compute variable   -  พิมพ์หัวข้อ tdใน target variable  เลือก sum.ในfunction คลิก function แล้วพิมพ์ sum [d1,d2,d3]/3 คลิก ok
     -  กดที่ analyze  เลือก  descriptive statistic เลือก  frequencies เลือกหัวข้อเพศ,a1,a2,...d3 แล้วคลิก ok
 แสดงประมวลผล
8.  ค่าร้อยละใช้กับ  เพศ  ตำแหน่ง  เงินเดือน  เป็นต้น 
9.  ค่าเฉลี่ย  ใช้กับ  ข้อคิดเห็นแต่ละข้อ

ผลลัพธ์ที่ได้จากโปรแกรม SPSS - การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเบื้องต้น
- การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง
- ค่าเฉลี่ย (Mean)
- ฐานนิยม (Mode)
- มัธยฐาน (Median)
- การวิเคราะห์การกระจายของข้อมูล
- พิสัย (Range)
- ส่วนเบี่ยงเบนควอไทล์ (Quartile Deviation)
- ส่วนเบี่ยงเบนเฉลี่ย (Average Deviation)
- ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
- สัมประสิทธิ์การแปรผัน (Coefficient of Variation)